เที่ยวตามรอย เฮอร์มันน์ เฮสเซ่

แรงบันดาลใจมีส่วนสำคัญต่อสารพัดผลงานสร้างสรรค์ และผลงานหรือเจ้าของผลงานสร้างสรรค์นั้นก็ยังเป็นแรงดลใจให้กับผู้ที่ได้สัมผัส ซึ่งอาจใช้เวลาเพียงเมื่อแรกพบหรือกว่าชั่วทั้งชีวิตก็ตาม รถไฟจากกรุงซูริคกำลังมุ่งหน้าขึ้นเหนือสู่เมืองบาเซิล จุดหมายเริ่มต้นการเดินทางภายใต้แรงบันดาลใจของผู้ที่หลงใหลโลกแห่งวรรณกรรมของ เฮอร์มันน์ เฮสเซ่ ซึ่งส่วนหนึ่งของนวนิยายเชิงปรัชญาอันโด่งดัง ที่ได้ประพันธ์ขึ้นในห้องพักโรงแรมริมฝั่งแม่น้ำไรน์

“แต่ก่อนผมไม่เคยสัมผัสกับความรู้สึกแปลก ๆ เช่นวันนี้ ได้สัมผัสอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างน่าแปลกใจ มีทั้งความขม ความหวาน นี่คือความสุขที่ผมได้ประสบ มีทั้งความน่ารักและการยอมมอบตัวของมาเรีย ได้ทั้งความหวานและเริงรสสัมผัสที่ผมได้ดูดดื่ม ทั้งลิ้มรสความสำราญนั้นนับร้อยพันจากอารมณ์ เนื้อนาง และนวลผิว สิ่งที่ผมเพิ่งรู้จักเมื่อตัวเองกลายเป็นคนแก่ไปแล้ว”

ความงดงามทางวรรณศิลป์

PflanzenVogel__FocusFillWzI0OTYsMTIzMiwieSIsMjE1XQ.jpg

ความงดงามทางวรรณศิลป์ชวนให้เคลิ้มไปกับห้วงอารมณ์อันโป๊เปลือยจากนวนิยายเรื่อง Steppenwolf ผลงานของเฮอร์มานน์ เฮสเส (Hermann Hesse เขาเกิด 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1877) แปลโดย สดใส ขันติวรพงศ์ เรื่องนี้อาจแต่งขึ้นภายในห้องเช่าหมายเลข 4.1 ของโรงแรม Krafft (www.krafftbasel.ch) ซึ่งตั้งเลียบฝั่งแม่น้ำไรน์ (Rhine) ในย่าน Rheingasse ของเมืองบาเซิล (Basel) มาตั้งแต่ ค.ศ. 1873 เฮอร์มานน์เริ่มเขียน Steppenwolf หนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาที่นี่ ในช่วงปี ค.ศ. 1925 และเขียนเสร็จที่ซูริค (Zurich)

ในปีต่อมา ทั้งที่เพิ่งแต่งงานกับนักร้องสาวชาวสวิสนางหนึ่งในปี 1924 ที่เขากลับปฏิเสธที่จะพบเธอตลอดระยะเวลาที่เขียนเรื่องนี้ไม่มีบรรยากาศย้อนเวลาหลงเหลืออยู่ในห้องพักหมายเลข 4.1 แม้ภายนอกอาคารแลดูกลมกลืนไปกับสถาปัตยกรรมยุโรปทั่วไป แต่ภายในโดยเฉพาะห้องพักทั้ง 48 ห้อง กลับปรับโฉมให้ร่วมสมัยใหม่เฉียบ ถอดทิ้งคราบโรงแรมเก่าร่วม 150 ปี จนหมดสิ้น

กลายเป็นบูทีคโฮเต็ลที่แฝงไว้ด้วยเรื่องเล่าขาน ขณะที่สายน้ำไรน์ยังคงไหลรินผ่านเบื้องหน้าเฉกเช่นในอดีต เฮอร์มานน์ เฮสเซ่ ผูกพันกับบาเซิลในสองช่วงชีวิต เขาเกิดและเติบโตในครอบครัวมิชชันนารีผู้เคร่งศาสนาในเมืองวืร์ทเทิมแบร์ก (Württemberg) ประเทศเยอรมนี

กระทั่งครอบครัวย้ายมาอยู่บาเซิลระหว่าง ค.ศ. 1881 – 1886 เขาใช้ชีวิตอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนย้ายกลับไปเยอรมนี และอีกครั้งในช่วงที่เขาได้งานเป็นพนักงานร้านขายหนังสือในปี 1899 – 1904  นั้นทำให้บาเซิลได้กลายเป็นเมืองโปรดของเขา “ ผมไม่มีความปรารถนาอื่นใดนอกจากได้กลับมาที่บาเซิล” จากบันทึกที่เขาเขียนไว้

ชีวิตวัยเยาว์ของเฮอร์มานน์ไม่สนุกสนานร่าเริงเยี่ยงเด็กทั่วไป ณ อาคารหมายเลข 21 บนถนน Missionsstrasse ก่อนเคยเป็นโรงเรียนสอนศาสนาให้กับเหล่ามิชชันนารีพร้อมเป็นสถานรับเลี้ยงเด็ก ทีนี่เขาได้รับเลี้ยงดูอย่างเคร่งครัดเข้มงวด แต่ด้วยอุปนิสัยจอมกบฏ เป็นเด็กหัวแข็งอารมณ์ร้อน จึงมักสร้างความขัดแย้งรุนแรงกับบิดามารดาของเขาเสมอ ถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตายเลยเชียว

ปัจจุบันนอกจากเป็นโรงเรียนสอนศาสนา ส่วนหนึ่งของอาคารได้เปลี่ยนสถานะเป็นโรงแรม Bildungszentrum 21 (www.bildungszentrum-21.ch) ขณะที่ตึกสถานเลี้ยงเด็กฝั่งตะวันตก เฮอร์มันน์ เฮสเซ่ ซึ่งเขาเคยมีประสบการณ์วัยเด็กอันน่าหดหู่ก็ยังคงทำหน้าที่นั้นต่อไป เช่นเดียวกับสวนพืชผักผลไม้นานาพันธุ์บริเวณหน้าอาคารยังคงสภาพไม่ต่างจากเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว

บาเซิลเป็นเมืองหลวงทางศิลปวัฒนธรรมและการศึกษาของสวิตเซอร์แลนด์ บนพรมแดนระหว่างเยอรมนีและฝรั่งเศส  มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศเกิดขึ้นที่บาเซิลเมื่อ ค.ศ. 1460 ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการพิมพ์หนังสือในอีกศตวรรษต่อมา ช่วงที่สองของเขาในบาเซิลจึงแวดล้อมไปด้วยคนรู้จักผู้เปี่ยมด้วยองค์ความรู้กระตุ้นสติปัญญา เขายังอุทิศตัวเองให้กับความรู้ด้านวิจิตรศิลป์

เข้าเยี่ยมสถานที่อย่าง Academy of Art กลายเป็นหนึ่งในงานอดิเรกที่ เฮอร์มันน์ เฮสเซ่ ชื่นชอบ งานสะสมศิลปะสาธารณะในยุโรปกำเนิดขึ้นที่นี่เมื่อปี ค.ศ. 1661ก่อนกลายมาเป็น พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Kunstmuseum Basel (www.kunstmuseumbasel.ch) จัดแสดงภาพเขียนและภาพวาดสีน้ำกว่า 60,000 ภาพ

xavier-von-erlach-w5YAvgrFr7U-unsplash.jpg
Museum of the Beyeler Foundation, Photo by Xavier von Erlach

พิพิธภัณฑ์

มีพิพิธภัณฑ์หลายหลากถึง 40 แห่งในบาเซิล ระหว่างอาคารสถาปัตยกรรมจากศตวรรษที่ 15 ในเขตเมืองเก่าและเหล่าอาคารหน้าตาสมัยใหม่รายรอบ มีศิลปะกลางแจ้งให้เห็นอยู่ทั่วเมือง อาทิ ผลงาน Intersection ของศิลปินชาวอเมริกันชื่อดัง Richard Serra อันประกอบด้วย 4 แผ่นเหล็กชิ้นมหึมาวางเหลื่อมกันอยู่หน้าโรงละคร ไม่ไกลกันมีน้ำพุ Carnival Fountain ซึ่งเกิดจากวัสดุเหลือใช้หรือวัสดุทิ้งแล้วหรืองานสรรค์สร้างโดย Jean Tinguely ศิลปินชาวสวิส

รูปหล่อสำริด Helvetia on the Journey วีรสตรีของชาตินั่งทอดอารมณ์ปนโศกเศร้าอยู่ริมแม่น้ำไรน์ ใครรักศิลปะใส่บาเซิลไว้ในจุดหมายน่าเยือนไว้ได้เลย วันไหนมีเวลาเหลือจากชมเมือง นั่งรถรางออกไปชานเมืองแถว Riehen ที่นั่นมีอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะระดับโลก Fondation Beyeler (www.fondationbeyeler.ch) ซึ่งมักนำคอลเล็คชั่นงานศิลปะชั้นเลิศมาจัดแสดงชั่วคราวให้เป็นที่ตื่นตาตื่นใจกันอยู่เสมอ

เดินไปตามตรอกซอกซอยในบาเซิล หากผ่านไปแถว Spalenberg ก้มมองสังเกตถนนคนดังเรียกติดปากว่า Walk of Fame ไว้ให้ดี คุณจะได้เห็นชื่อฮีโร่คนดังชาวสวิสเป็นระยะอย่าง Roger Federer นั่นปะไร พอเจอชื่อหนุ่มนักเทนนิสแล้วเดินเลยไปอีกหน่อย มองหาอาคารหมายเลข 22 ชั้นล่างเป็นร้านบูทีคแฟชั่นเครื่องหนัง Petite Sacoche (www.petitesacoche.ch) ด้านนอกตกแต่งด้วยภาพวาดแฟรสโกสวยงาม ชั้นบนสุดเป็นรูปหมาป่าสีทอง นัยว่าเฮอร์มานน์ได้แรงบันดาลใจในการเขียนนิยายเรื่อง Steppenwolf มาจากรูปนี้

dorothea-oldani-7Gf3V6dwWXk-unsplash.jpg
Photo by Dorothea OLDANI 

Swiss Pass

ค.ศ. 1919 เขาย้ายถิ่นฐานมาปักรกรากที่หมู่บ้านมอนตาโญลา (Montagnola) เมืองลูกาโน่ (Lugano) ในแคว้นทิชิโน่ (Ticino) ทางตอนใต้ของประเทศ การเดินทางสัญจรในสวิตฯ นั้นสะดวกสบายและตรงเวลาเป็นที่สุด

ยิ่งถือบัตร Swiss Pass (www.swisstravelsystem.com) สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งรวมตั๋วรถไฟ รถราง รถบัสและแม้แต่เรือโดยสารเอาไว้ด้วยกัน ใบเดียวเที่ยวได้ทั่วประเทศ ทริปตามรอย เฮอร์มานน์ เฮสเส คราวนี้ ไหนๆ ก็ถือบัตรโดยสารแบบชั้น 1 (First Class) แค่นั่งรถไฟจากบาเซิลตรงดิ่งไปลูกาโน่อย่างเดียวแลจะไม่คุ้มค่าตั๋ว เลยนั่งไปลงที่ลูเซิร์น(Lucerne) เมืองเล็กๆ ใจกลางประเทศ แล้วลงเรือกลไฟล่องทะเลสาบลูเซิร์น (Lake Lucerne) ไปขึ้นที่เมืองฟลือเลน (Flüelen) จากนั้นค่อยต่อรถไฟอีกทีไปยังจุดหมายปลายทาง

dorothea-oldani-n-Uw10Sl9MU-unsplash.jpg
Photo by Dorothea OLDANI

พื้นที่รวมของทะเลสาบขนาด 114 ตารางกิโลเมตร บวกกับความเร็วแบบเนิบช้าของเรือกลไฟโดยสาร จึงใช้เวลาเดินทางจากลูเซิร์นไปฟลือเลนร่วมสองชั่วโมงครึ่ง ผ่านทัศนียภาพขุนเขาสูงต่ำชวนมอง อ่าวริมฝั่งและบรรดาหมู่บ้านต่าง ๆ เป็นทริปล่องทะเลสาบที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวสวิสและต่างชาติในทุกฤดูร้อน

จับจองที่นั่งบริเวณหัวเรือรับแสงแดดเที่ยงวันกันเต็มพื้นที่ บนเรือมีห้องอาหารแบ่งออกเป็นหลายส่วน ซึ่งเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทุกเพศวัย  เพราะมีบัตรSwiss Pass ชั้น 1 อยู่ในมือเลยได้นั่งในห้องอาหารหน้าเรือเห็นทิวทัศน์พาโนรามาพร้อมคูปองแลกซื้ออาหารกลางวัน อะไร ๆ ก็ดูดีไปหมดเว้นก็แต่อากาศอันร้อนอบอ้าว ภายในห้องซึ่งมีเพียงช่องระบายอากาศเล็ก ๆ และพัดลมอีกหนึ่งตัวสำหรับแขกเกือบร้อยชีวิต นี่แหละให้รู้สึกว่าช่วงเวลาเกือบสามชั่วโมงช่างนานเกินความเป็นจริง ต้องหนีออกไปรับลมเย็นสบายอยู่บ่อยครั้ง   

Bellinzona/ Photo by Patrizia Berta

จากฟลอเลนจับรถไฟต่อไปยังสถานีเบลินโซน่า (Bellinzona) เพื่อเปลี่ยนขบวนรถไฟอีกต่อก่อนไปถึงปลายทางที่ลูกาโน อย่าเพิ่งท้อถอดใจกว่าจะไปถึง ขบวนรถไฟ Wilhelm Tell Express (www.wilhelmtellexpress.ch) ที่จะพาเราไปตลอดเส้นทางสายประวัติศาสตร์ Gotthard Line ซึ่งเปิดใช้งานมาตั้งแต่ ค.ศ. 1882 นี่แหละ เขาว่ามีอะไรน่าตื่นเต้นรออยู่ เริ่มจากตู้ขบวน Salon Liberté สำหรับผู้โดยสารชั้น 1 ตกแต่งอย่างเรียบ เท่ ทว่าหรูหรา สะอาดสะอ้าน ตามด้วยเครื่องดื่มดับกระหายแล้วแต่โปรด

ว่าแล้วก็ขอจิบโพรเซคโคสักแก้ว น่าสนุกตรงเก้าอี้หมุนตัวชมทิวทัศน์หุบเขาสวิสได้ 360 องศา กดปุ่มให้หยุด ณ องศาใดได้ตามใจชอบ เลือกไม่ถูกว่าจะนั่งอ่านนิยายของเฮอร์มานน์กำซาบอารมณ์หรือซึมซับบรรยากาศรอบด้านดี ขบวนรถไฟแล่นไต่ไปตามความสูงตั้งแต่ระดับ 470 – 1,110 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล พลันมุดเข้าอุโมงค์ Gotthard ความยาว 15 กิโลเมตร ให้พอตื่นเต้นกันบ้าง

Photo by Jesper Brouwers

เพราะเป็นประเทศซึ่งใช้ภาษาทางการกันหลายภาษาขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น จากเมืองที่พูดภาษาเยอรมันสู่เมืองที่พูดภาษาอิตาเลียน ณ ลูกาโน เมืองติดชายแดนประเทศอิตาลีขับรถเพียงหนึ่งชั่วโมงครึ่งจากทะเลสาบโคโม่ (Lake Como) ในอิตาลี สภาพบ้านเรือนและผู้คนจึงมีจริตแบบอิตาเลียนเจอปนอยู่มากโข

แม้ไม่ถึงขนาดอิตาเลียนจ๋า แต่ก็ห่างไกลจากความเป็นสวิส/เยอรมันอยู่หลายขุม เป็นเมืองที่มีคนพูดภาษาอิตาเลียนนอกประเทศอิตาลีมากที่สุด ตั้งอยู่เลียบริมอ่าวตอนเหนือของทะเลสาบลูกาโน (Lake Lugano) ล้อมด้วยทิวเขา Lugano Prealps อันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแอลพ์ส (Alps) เหนือทะเลสาบและตัวเมืองลูกาโนขึ้นไปบนไหล่เขา คือ ที่ตั้งของหมูบ้านมอนตาโญลา เดินทางสิบห้านาทีโดยรถบัสจากสถานีรถไฟที่ซึ่งเฮอร์มานน์ เฮสเสใช้ชีวิตศิลปินตลอดครึ่งชีวิตของเขาจวบจนลมหายใจสุดท้าย

Casa Efrain Recinos/ Photo by Manuel Asturias, SJ

หลังแยกตัวจากครอบครัวมาอยู่ที่มอนตาโญลาเขาเช่าห้องพักไว้สี่ห้องภายใน Casa Camuzzi บ้านหลังใหญ่โตราวกับวัง สร้างเสร็จในปี 1853 ภายใต้สถาปัตยกรรมแบบรัสเซียนบาโร้ค (Russian Baroque) ผสมนีโอโกธิค (Neo-Gothic) พร้อมระเบียงชมสวนสวยแปลกตา ออกแบบโดย Agostino Camuzzi สถาปนิกชาวสวิสผู้ออกแบบพระราชวังเฮอร์มิเทจ (Hermitage) แห่งนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) ประเทศรัสเซีย สิบสองปีที่เขาอาศัยอยู่ในช่วงปี 1919 – 1931

ผลงานหลายชิ้นของเขาเสร็จสมบูรณ์หรือได้เริ่มต้นขึ้นที่นี่ สภาพธรรมชาติแวดล้อมอันงดงามในละแวกหมู่บ้านยังดลใจให้เขาออกไปเดินเล่นและวาดภาพสีน้ำขึ้นอีกนับชิ้นไม่ถ้วน ปัจจุบันตัวอาคารและสวนหย่อมเป็นสถานที่ส่วนบุคคล เหล่าแฟนพันธุ์แท้ได้แต่ชื่นชมเพียงภายนอกเท่านั้น โชคดีที่ส่วนหนึ่งของอาคารได้รับการจัดตั้งให้เป็นพิพิธภัณฑ์ Hermann Hesse (www.hessemontagnola.ch) เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 ฉลองวันคล้ายวันเกิดปีที่ 120 ของเขา ต้องขอบคุณ Heiner Hesse บุตรชายผู้ผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์นี้

Photo Cr.: hessemontagnola.ch
Photo Cr.: hessemontagnola.ch

นักเขียนผู้เข้าถึงความเป็นปัจเจกของมนุษย์

Hermann Hesse เป็นนักเขียนผู้เข้าถึงความเป็นปัจเจกของมนุษย์ ละเอียดอ่อนหยั่งลึกต่อโลกธรรมชาติ ศาสนา ปรัชญาและศิลปะ งานเขียนหลายเรื่องของเขาแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างลุ่มลึกต่อปรัชญาตะวันออกทั้งอินเดียและจีน ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาจิตวิญญาณภายในของมนุษย์

แม้ใช้ชีวิตสันโดษแยกจากสังคมแต่เขาก็แสดงความรักที่มีต่อโลกผ่านงานเขียน เป็นหนึ่งในนักเขียนผลงานภาษาเยอรมันช่วงศตวรรษที่ 20 ที่มีผู้อ่านติดตามมากที่สุดในโลก และเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในเหล่าบุปผาชน คนหนุ่มสาวและนักศึกษามหาวิทยาลัย หนังสือของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ กว่า 60 ภาษา ออกวางจำหน่ายกว่า 150 ล้านฉบับ

จากเหล่ามิตรสหายซึ่งเขาเขียนตอบกลับทุกฉบับได้เห็นลายมือและลายเซ็นจริงของ ซิกมุนด์ฟรอยด์ (Sigmund Freud) บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรียครั้งแรกก็วันนี้ หนังสือปรัชญาที่เขาโปรด หนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีผลงานเด่นดัง อาทิ Siddhartha หรือ สิทธารถะ, Steppenwolf, Narcissuss and Goldmund, Journey to the East, The Glass Bead Game ฯลฯ

และที่สำคัญใบประกาศนียบัตรรางวัลโนเบล (Nobel Prize) สาขาวรรณกรรมซึ่งเขาได้รับเกียรติเมื่อ ค.ศ. 1946 ในฐานะผู้สร้างผลงานที่ลึกล้ำด้วยสำนึกด้านมนุษยธรรมอันงดงามด้วยวรรณศิลป์
 
ทั้งที่รุ่งโรจน์ในความเป็นนักเขียนชื่อก้องโลก แต่เขากลับมีชีวิตส่วนตัวที่ล้มเหลว มีภรรยาผู้วิกลจริต เขาต้องผจญกับความขัดแย้งทางจิตใจอย่างมาก ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโรคประสาท กระทั่งพบว่าการวาดภาพเป็นหนทางบำบัดเยียวยาสภาวะจิตใจของตัวเอง

“จากความโดดเดี่ยวทั้งหมด อันกลับกลายมาเป็นสิ่งที่สุดจะอดทนได้นั้น ผมพบตนเองจากการหลีกหนีบางสิ่ง ซึ่งก่อนหน้านั้นผมไม่เคยทำเลย นั่นคือการเริ่มต้นการวาดภาพระบายสี หรือไม่นี่ก็เป็นจุดหมายที่ไร้ตัวตน..”

เขาเสียชีวิตด้วยวัย 85 ปี จากอาการเส้นเลือดในสมองแตกขณะนอนหลับเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1962 ครบ 50 ปี ที่เขาจากไปในวันที่มาเยือนนี้พอดี ร่างของเขาฝังอยู่ในสุสานไม่ไกลเกินเดินจากพิพิธภัณฑ์ ใกล้กับ Sant’Abbondio โบสถ์หลังเล็กจากศตวรรษที่ 11ซึ่งตั้งอย่างโดดเดี่ยวอยู่บนเนินเขา เด่นตาด้วยต้นไซปรัสสูงชะลูดเรียงขนาบสองข้างทางไปตลอดแนวถนนเข้าไปยังโบสถ์ เป็นที่พักกายรับลมโชยหลังเดินเที่ยวชมหมู่บ้านตามรอยเฮอร์มานน์ในจุดต่าง ๆ ที่เขาชื่นชอบมาหลายชั่วโมง

Photo by Julia Goralski

ณ ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 912 เมตร บนยอดเขา San Salvatore กับทัศนียภาพตระการตา 360 องศา เห็นทิวทัศน์กว้างไกลเบื้องล่างทั้งทะเลสาบและเมืองลูกาโน ในหัวยังใคร่ครวญคิดถึงประโยคคำพูดของนักเขียนรางวัลโนเบลผู้ล่วงลับต่อทัศนคติความเป็นปัจเจกของมนุษย์

“ไม่มีความจริงใด ๆ นอกจากสิ่งซึ่งอยู่ภายในตัวเรา นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมคนมากมายถึงใช้ชีวิตอยู่ในมายา พวกเขาคิดว่าภาพภายนอกคือความเป็นจริง และไม่เคยปล่อยให้โลกภายในได้แสดงตนออกมา” หรือ “จงเป็นตัวของตัวเอง อย่ากลัวที่จะเป็นคนนอก” ช่างร่วมสมัยไร้กาลเวลาเสียจริง  และที่ถูกใจที่สุดก็คือ “หากเจ้าอยากเป็นตัวของตัวเอง อย่าทำตัวเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย” นี่แหละกบฏทางความคิดโดยแท้

GETTING THERE

สายการบินสวิสอินเตอร์เนชันแนลให้บริการเที่ยวบิน กรุงเทพฯ – ซูริค จากนั้นนั่งรถไฟต่อไปยังเมืองบาเซิล
รายละเอียดเพิ่มเติม

โทร. 02-654-6888 หรือ www.swiss.com

 SPECIAL THANKS

Switzerland Tourism        www.MySwitzerland.com
Basel Tourism            
www.basel.com
Ticino Tourism            
www.ticino.com
Swiss Travel System       www.swisstravelsystem.com

Swiss International Air Lines    

www.swiss.com